สะเต็มศึกษา (STEM education)

แนวทางการจัดการศึกษาที่มุ่งพัฒนาให้นักเรียนสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ ความสามารถ และทักษะต่างๆทางด้านวิทยาศาสตร์ (Science: S) เทคโนโลยี (Technology: T) กระบวนการทางวิศวกรรม (Engineering: E) และคณิตศาสตร์ (Mathematics: M) ในการสร้างสรรค์วิธีการหรือนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21

องค์ประกอบพื้นฐานของการศึกษา

ความรู้ ความเข้าใจ และการประยุกต์ใช้

พัฒนาความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งผ่านกระบวนการแก้ปัญหาและการสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์ และจัดการเรียนการสอนแบบสหสาขาวิชาในวิชาที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกัน โดยครูผู้สอนจากสาขาวิชาต่างๆออกแบบบทเรียนร่วมกัน

ทักษะต่างๆ

อาทิ ทักษะการคิด การสังเกต การเปรียบเทียบ การจำแนก การตั้งสมมติฐาน การทำนายผลลัพธ์ การคิดอย่างสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา การประเมินผล ทักษะในการสื่อสาร และการตัดสินใจ

ทัศนคติและค่านิยม

ได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความรอบคอบ ความน่าเชื่อถือ ความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ การตั้งจุดมุ่งหมาย การเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ความพากเพียร ความรับผิดชอบต่อสังคม และการเคารพกฎหมาย

การปฏิบัติ

เป็นผลจากการประมวล การบูรณาการ การคิดวิเคราะห์กลั่นกรองความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ ทัศนคติและค่านิยมต่างๆ นำไปสู่การแสดงออกหรือการกระทำอย่างเหมาะสม

แนวทางการจัดการเรียนรู้โดยใช้ STEM

ขั้นที่ 1 ระบุปัญหา

ขั้นนี้ ครูมีบทบาทในการนำนักเรียนเข้าสู่บทเรียน โดยอาจใช้สถานการณ์รอบตัวในการเชื่อมโยง และกระตุ้นให้นักเรียนระบุปัญหาที่ต้องการศึกษา โดยปัญหานั้นควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและสามารถหาทางแก้ไขหรือพัฒนาโดยใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และควรเน้นให้นักเรียนวิเคราะห์ เป้าหมาย ความต้องการ และบริบทที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้นให้ชัดเจนเพื่อเป็นกรอบในการค้นคว้าต่อไป

ขั้นที่ 2 รวบรวมข้อมูลและแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับปัญหา

ในขั้นนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ และระดมความคิดเพื่อใช้ในการแก้ไขหรือพัฒนาปัญหานั้น ภายใต้เป้าหมาย ความต้องการ และบริบทที่เกี่ยวข้องตามที่วิเคราะห์ไว้ในขั้นแรก โดยครูควรกระตุ้นให้นักเรียนวิเคราะห์ว่าจะหากจะแก้ปัญหาดังกล่าว นักเรียนควรจะรู้อะไร และจะหาความรู้เพิ่มได้อย่างไร รวมถึงเป็นที่ปรึกษาเมื่อนักเรียนมีประเด็นที่ไม่เข้าใจ

ขั้นที่ 3 ออกแบบวิธีการแก้ปัญหา

ในการออกแบบวิธีการหรือนวัตกรรมเพื่อพัฒนาหรือแก้ไขปัญหา ครูควรเน้นให้นักเรียนออกแบบวิธีการหรือนวัตกรรมที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงโดยใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และควรมีวิธีการแก้ปัญหามากกว่า 1 แบบ รวมถึงควรมีการจัดทำแผนผัง หรือขั้นตอนการปฏิบัติ เพื่อให้สามารถเห็นภาพได้อย่างชัดเจนและให้รายละเอียดที่พร้อมนำไปสร้างชิ้นงานหรือปฏิบัติได้จริง พร้อมเสนอแนะให้นักเรียนพิจารณาข้อดี ข้อด้อยของแต่ละแบบเพื่อเลือกแบบที่จะนำมาปฏิบัติ

ขั้นที่ 4 วางแผนและดำเนินการแก้ปัญหา

ในขั้นนี้ครูควรกระตุ้นให้นักเรียนวางแผนการปฏิบัติงาน และผลที่คาดว่าจะได้รับในแต่ละขั้นตอน จากวิธีการหรือแบบที่ได้เลือกไว้ รวมถึงบันทึกผลการปฏิบัติงาน และการแก้ปัญหาต่างๆทุกครั้ง และหากพบปัญหาทางวิชาการเฉพาะด้าน ครูอาจเชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นมาให้คำแนะนำแก่นักเรียน

ขั้นที่ 5 ทดสอบ ประเมินผล และปรับปรุงแก้ไข

ในขั้นนี้เป็นการทดสอบเพื่อหาผลลัพธ์ของวิธีการหรือชิ้นงานนั้น โดยครูควรให้ความสำคัญในการทดสอบผลลัพธ์ เพื่อให้ข้อเสนอแนะสำหรับการพัฒนาชิ้งานให้สมบูรณ์ และควรเน้นให้นักเรียนบันทึกผลการทดสอบ ปัญหาและอุปสรรค รวมถึงความไม่สมบูรณ์ของงาน เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาต่อไป และหากเป็นวิธีการหรือผลงานที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ครูควรเชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นร่วมเป็นผู้ทดสอบและให้ข้อเสนอแนะ

ขั้นที่ 6 นำเสนอวิธีการแก้ปัญหา ผลการแก้ปัญหา หรือชิ้นงาน

โดยควรนำเสนอตามลำดับอย่างเป็นขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นที่ 1 ถึงขั้นที่ห้า